BANNER

ระบบประกันสุขภาพและประกันสังคมของประเทศเวียดนาม


 ประชาคมเศรษฐกิจอาเซียน      11 Apr 2017

  


บทนำ
          ประเทศเวียดนามมีประชากรประมาณ ๙๐ ล้านคน ประชากรส่วนใหญ่อยู่ในช่วงอายุ ๒๐ – ๒๙ ปี การปกครองของเวียดนามเป็นระบบคอมมิวนิสต์ ในทางเศรษฐกิจเวียดนามใช้ระบบผสมโดยจะเน้นการควบคุมของรัฐโดยรัฐวิสาหกิจเป็นผู้ประกอบธุรกิจในหลาย ๆ อุตสาหกรรม ในส่วนของระบบประกันสุขภาพของเวียดนามใช้การควบคุมของรัฐเป็นหลักเป้าหมายของเวียดนามคือต้องการให้ระบบประสุขภาพของเวียดนามครอบคลุมประชากรร้อยละ ๘๐ ภายในปี พ.ศ. ๒๕๖๓ และ ลดเงินที่ผู้ป่วยต้องจ่ายให้ต่ำกว่าร้อยละ ๔๐ ของค่ารักษาพยาบาลทั้งหมด บทความนี้จะกล่าวถึงความพยายามของเวียดนามในการพัฒนาระบบประกันสังคมเพื่อรองรับการเพิ่มขึ้นของงานและระบบประกันสุขภาพเพื่อที่จะให้การพัฒนาระยะยาวของเวียดนาม บทความจะกล่าวถึงวิวัฒนาการเพื่อให้เห็นภาพรวมของการพัฒนาประเทศเวียดนาม

วิวัฒนาการระบบประกันสุขภาพและประกันสังคม[1][2]
          ระบบประกันสังคม
          ประเทศเวียดนามเริ่มมีการพัฒนาด้านนโยบายด้านประกันสังคมในช่วงปี พ.ศ. ๒๕๐๓ ในรูปแบบของโครงการประกันสังคมสำหรับเจ้าหน้าที่รัฐซึ่งโครงการประกันสังคมจะดูแลโดยหน่วยงานที่เจ้าหน้าที่รัฐสังกัด นโยบายดังกล่าวดำเนินงานสมบูรณ์ในปี พ.ศ. ๒๕๑๘ ซึ่งสิทธิที่ผู้อยู่ในโครงการจะได้รับได้แก่ สิทธิในเงินบำนาญ สิทธิค่าชดเชยเมื่อพิการและพิการจากการทำงาน สิทธิในค่าชดเชยเมื่อได้รับบาดเจ็บจากการทำงาน สิทธิในการได้รับค่าจ้างเมื่อลาคลอด  สิทธิในการได้รับเงินหากเจ็บป่วยจากการทำงาน
          ในปี พ.ศ. ๒๕๓๘ ประเทศเวียดนามได้มีการตราประมวลกฎหมายแรงงาน[3] โดยที่บทที่ ๑๒ ได้กำหนดให้ลูกจ้างต้องเข้าร่วมระบบประกันสังคม (Social Security) และในปีเดียวกันนั้นรัฐบาลเวียดนามได้ออกประกาศที่ 12/CP[4] กำหนดรายละเอียดเกี่ยวกับโครงการประกันสังคมของประเทศเวียดนามขึ้นใหม่ ซึ่งจะครอบคลุมถึง พนักงานรัฐวิสาหกิจพนักงานของบริษัทเอกชนที่มีจำนวนลูกจ้างเกิน ๑๐ คน พนักงานขององค์การระหว่างประเทศ ข้าราชการของหน่วยงานกองทัพ สิทธิทางประกันสังคมเวียดนามประกอบด้วย สิทธิในการได้รับค่าชดเชยเมื่อต้องหยุดงานเพราะป่วย สิทธิในการลาคลอด สิทธิเมื่อบาดเจ็บจากการทำงาน สิทธิในการรักษาหากติดโรคจากการทำงาน เงินบำนาญ และเงินชดเชยแก่ทายาทกรณีเสียชีวิต ซึ่งประกาศดังกล่าวเปลี่ยนระบบเงินสนับสนุนจากเดิมที่เป็นระบบรัฐเป็นผู้ให้เงินทั้งหมดเป็นระบบกองทุนร่วมกันจ่ายระหว่างนายจ้างและลูกจ้าง โดยการดำเนินงานของโครงการประกันสังคมจะบริหารงานโดยสำนักงานประกันสังคม ต่อมาในปี พ.ศ. ๒๕๔๙ รัฐบาลเวียดนามตรากฎหมายสิทธิประกันสังคม (Social Insurance) ขึ้น โดยกฎหมายใหม่เป็นการรวบรวมกฎหมายที่เกี่ยวกับประกันสังคมเดิมที่มีอยู่อย่างไม่เป็นระบบให้เป็นกฎหมายฉบับเดียวกฎหมายดังกล่าวแบ่งออกเป็น ๑๑ บท ๑๔๑ มาตรา ประกอบด้วย
๑.    บททั่วไป
๒.    บทว่าด้วยสิทธิและหน้าที่ของลูกจ้างและนายจ้างต่อสำนักงานประสังคม
๓.    บทว่าด้วยโครงการประกันสังคมแบบบังคับเข้าร่วม
๔.    บทว่าด้วยของโครงการประกันสังคมแบบไม่บังคับเข้าร่วม
๕.    สิทธิประโยชน์เมื่อว่างงาน
๖.    กองทุนประกันสังคม
๗.    หน่วยงานประกันสังคม
๘.    การดำเนินงานโครงการประกันสังคม
๙.    กระบวนการระงับข้อพิพาท
๑๐. รางวัลการปฏิบัติงานและบทกำหนดโทษ
๑๑. บทเฉพาะกาล
ต่อมากฎหมายประกันสังคมฉบับปี พ.ศ. ๒๕๔๙ ดังกล่าวได้ถูกยกเลิกและแทนที่โดยกฎหมายประกันสังคมปี พ.ศ. ๒๕๕๗[5] กฎหมายประกันสังคมฉบับใหม่มี ๙ บท ๑๒๕ มาตรา ใจความสำคัญแต่ละบทประกอบด้วยสาระสำคัญของแต่ละบทมีดังต่อไปนี้

๑.   บททั่วไป กล่าวถึงวัตถุประสงค์ของกฎหมายประกันสังคมซึ่งมีขึ้นเพื่อรับรองสิทธิและหน้าที่ของนายจ้างและลูกจ้าง หน่วยงาน นิติบุคคล และบุคคลที่เกี่ยวข้องกับประกันสังคม ในมาตรา ๒ ของกฎหมายได้ระบุถึงบุคคลที่ได้รับสิทธิและหน้าที่ตามกฎหมายซึ่งประกอบด้วย ลูกจ้างสัญชาติเวียดนามทั้งในภาคเอกชนและภาครัฐ แรงงานต่างชาติซึ่งทำงานโดยมีใบอนุญาต ทั้งนี้ ประกันสังคมได้รับรองถึงสิทธิที่จะได้รับเงินชดเชยในกรณี ป่วย ลาคลอด อุบัติเหตุจากการทำงาน และค่าชดเชยให้กับทายาทในกรณีเสียชีวิต โดยที่ระบบประกันสังคมเวียดนามจะใช้ระบบร่วมกันจ่ายระหว่างนายจ้างและลูกจ้าง

๒.    บทว่าด้วยสิทธิและหน้าที่ของลูกจ้าง นายจ้าง และสำนักงานประกันสังคม โดยมีสาระสำคัญสรุปได้ว่า
(๑)  ลูกจ้างมีสิทธิที่จะได้รับการประกันตามที่ระบุไว้ในกฎหมายมีสิทธิที่จะจัดการบัญชีประกันสังคมของตน สิทธิในการได้รับค่าใช้จ่ายในการตรวจสุขภาพจากนายจ้าง และได้รับข้อมูลสิทธิและการให้ความช่วยเหลือจากทั้งนายจ้างและสำนักงานประกันสังคม โดยลูกจ้างมีหน้าที่ที่จะต้องจ่ายเงินสมทบเข้ากองทุนและทำตามกฎระเบียบของกองทุนและมีสิทธิในการฟ้องร้องคดี
(๒)  นายจ้างมีสิทธิที่จะปฏิเสธคำร้องที่ขัดต่อกฎหมายประกันสังคมและมีสิทธิในทางศาลในการฟ้องร้องคดี นอกจากนี้นายจ้างมีหน้าที่ที่จะต้องดำเนินการให้ลูกจ้างเข้าร่วมระบบประกันสังคมและหักนำเงินเดือนของลูกจ้างจ่ายเข้าระบบประกันสังคมและจ่ายเงินในกรณีที่ลูกจ้างมีสิทธิได้รับค่าชดเชย ในกรณีที่เป็นเจ็บป่วยจากการทำงานนายจ้างต้องพาลูกจ้างเข้าพบแพทย์ มีหน้าที่ต้องจัดทำข้อมูลการจ่ายเงินเข้าระบบประกันสังคมของทั้งนายจ้างและลูกจ้างด้วย
(๓)   สำนักงานประกันสังคม สิทธิในการจัดการบุคคล การเงิน สินทรัพย์ ตามที่กำหนดไว้ในกฎหมาย มีสิทธิที่จะปฏิเสธการจ่ายค่าชดเชยในกรณีที่มีการฉ้อฉล มีสิทธิในการขอข้อมูลเกี่ยวกับการจ้างงานของนายจ้างเช่น ตารางเงินเดือน ในทางหน้าที่สำนักงานประกันสังคมมีหน้าที่ในการให้เอกสารรับรองการเข้าร่วมโครงการประกันสังคมต่อนิติบุคคล จัดทำนโยบายกฎหมายลำดับรองข้องกับประกันสังคม สิทธิในกรณีว่างงานและประกันสุขภาพ มีหน้าที่จัดสรรเงินจากนายจ้างและลูกจ้างเพื่อนำไปลงทุนต่อไป และเก็บรวบรวมข้อมูล

๓.    บทว่าด้วยสิทธิประกันสังคมที่บังคับเข้าร่วม
สิทธิในการได้รับค่าทดแทนเมื่อเจ็บป่วย ผู้ที่ต้องลางานเพราะเจ็บป่วยจะได้รับค่าชดเชยโดยต้องได้รับการรับรองจากแพทย์รวมถึงกรณีที่ลูกจ้างต้องลางานเพราะต้องพาบุตรอายุไม่เกิน ๗ ปีซึ่งเจ็บป่วยไปพบแพทย์โดยต้องมีใบรับรองจากแพทย์เช่นกัน ทั้งนี้ไม่รวมถึงกรณีที่ลูกจ้างเจ็บป่วยจากการทำงานซึ่งจะแยกคุ้มครองอีกกรณีและความเจ็บป่วยที่ได้ก่อขึ้นเอง
สิทธิในการได้รับค่าทดแทนเมื่อลาคลอด ผู้ที่จะได้รับสิทธิคือสตรีตั้งครรภ์ สตรีที่รับตั้งครรภ์แทนและสตรีที่เป็นมารดาที่แท้จริง สตรีที่รับบุตรบุญธรรมอายุต่ำกว่า ๖ เดือน บุรุษที่เข้าร่วมโครงการประกันสังคมและภรรยาให้กำเนิดบุตร
สิทธิในการได้รับค่าทดแทนเมื่อได้อุบัติเหตุขณะการทำงานหรือโรคที่เกิดจากการทำงาน ในกรณีที่เกิดอุบัติเหตุต้องเป็นอุบุติเหตุที่เกิดขึ้นที่ทำงานและต้องเป็นช่วงเวลาทำงาน ในกรณีนอกสถานที่ทำงานหรือนอกเวลาทำงานแต่ทำงานที่นายจ้างมอบหมาย ในกรณีที่เกิดอุบัติเหตุระหว่างการเดินทางมาทำงานหรือกลับจากทำงานในเวลาที่อยู่ในวิสัยและเส้นทางที่อยู่ในวิสัย หากเป็นโรคทีเกิดจากการทำงานลูกจ้างที่จะได้รับสิทธิคือลูกจ้างที่ทำหน้าที่ตามที่กระทรวงสาธารณสุขร่วมกับกระทรวงแรงงานระบุไว้
สิทธิในการได้รับเงินบำนาญหลังเกษียณ ตามกฎหมายแรงงานเวียดนามกำหนดให้ลูกจ้างชายและลูกจ้างหญิงเกษียณการทำงานแตกต่างกัน โดยเพศชายกำหนดไว้ที่ ๖๐ ปี เพศหญิงกำหนดไว้ที่ ๕๕ ปี หรือหากเป็นเพศหญิงมีลักษณะงานในรายชื่อการลักษณะงานที่หนักและเป็นอันตรายจะมีอายุการเกษียณเมื่อทำงานนั้นมาแล้ว ๑๕ ปี และหากลูกจ้างที่ได้รับเชื้อ HIV และต้องออกจากงานก็จะได้รับเงินบำนาญเช่นกัน
สิทธิในการได้รับค่าทดแทนของทายาทในกรณีที่ลูกจ้างเสียชีวิต ทายาทจะได้รับเงินชดเชยก็ต่อเมื่อลูกจ้างได้เสียชีวิตจากอุบัติเหตุจากการทำงานหรือโรคที่เกิดจากการทำงาน

๔.    บทว่าด้วยสิทธิประกันสังคมประเภทสมัครใจ
สิทธิในการได้รับบำนาญหลังเกษียณ ในกรณีที่ลูกจ้างอยู่ในสถานการณ์จ้างที่กฎหมายไม่ได้บังคับให้เข้าร่วมระบบประกันสังคม กฎหมายเปิดช่องให้ลูกจ้างสามารถเข้าร่วมประกันสังคมได้โดยติดต่อสมัครได้ที่สำนักงานประกันสังคมเมื่อสมัครแล้วจ่ายเงินเข้ากองทุนตามที่หลักเกณฑ์เมื่อเกษียณอายุการทำงานก็จะได้เงินบำนาญ
สิทธิในการได้รับค่าทดแทนของทายาทในกรณีที่ลูกจ้างเสียชีวิต ลูกจ้างที่จ่ายเงินเข้ากองทุนประกันสังคมแล้ว ๖๐ เดือน และผู้รับเงินบำนาญ หากเสียชีวิตลงทายาทจะได้รับเงินสำหรับใช้จ่ายในการจัดงานศพและค่าชดเชย

๕.    บทว่าด้วยกองทุนประกันสังคม กำหนดแหล่งเงินที่จะนำมาใช้จ่ายในระบบประกันสังคมซึ่งมากจาก เงินที่จ่ายเข้ากองทุนของลูกจ้าง และนายจ้าง ผลกำไรจากการนำเงินในกองทุนไปลงทุน เงินให้จากรัฐ และเงินได้ที่ถูกต้องตามกฎหมาย

๖.    บทว่าด้วยสำนักงานประกันสังคมและการบริหาร สำนักงานประกันสังคมมีอำนาจในการดำเนินการและบริหารนโยบายและใช้เงินในกองทุนต่าง ๆ ที่มี เพื่อให้เกิดประโยชน์สูงสุด โดยจะมีการตั้งคณะกรรมการบริหารซึ่งมาจากภาคส่วนต่าง ๆ เช่น ตัวแทนจากนายจ้าง ลูกจ้าง และตัวแทนจากภาคสาธารณสุข ทั้งนี้ เพราะสำนักงานประกันสังคมมีหน้าที่ต้องบริหารกองทุนประกันสุขภาพของเวียดนามด้วย

๗.    บทว่าด้วยกฎและขั้นตอนการดำเนินงานประกันสังคม กฎหมายกำหนดให้ลูกจ้างทุกคนจะได้รับสมุดบัญชีประกันสังคมเมื่อเข้าร่วมในโครงการ และภายในปี ๒๕๖๓ กฎหมายกำหนดให้ต้องมีบัตรประกันสังคมให้สมาชิกทุกคน นอกจากนี้กฎหมายได้กำหนดขั้นตอนและเอกสารที่ใช้ในการขอรับค่าชดเชย

๘.    คำร้อง ประกาศ และการรับมือในกรณีที่มีการละเมิดกฎหมายประกันสังคม มีสาระสำคัญเป็นการกำหนดขั้นตอนเมื่อมีเหตุแห่งการละเมิดกฎหมายโดยกฎหมายกำหนดให้มีเจ้าหน้าที่ประกันสังคมเป็นผู้ให้ความเห็น

๙.   บทเฉพาะกาล กฎหมายประกันสังคมฉบับปัจจุบันของเวียดนามร่างขึ้นและผ่านการลงมติจากสภานิติบัญญัติเวียดนามเมื่อปี พ.ศ. ๒๕๕๗ โดยในบทเฉพาะกาลกำหนดให้กฎหมายมีผลบังคับใช้ในปี พ.ศ. ๒๕๕๘

          ระบบประกันสุขภาพ[6][7]
          หลังจากที่สงครามเวียดนามสิ้นสุดและประเทศเวียดนามได้รวมเป็นหนึ่งเดียวซึ่งฝ่ายที่ชนะสงครามเปลี่ยนประเทศเวียดนามไปใช้ระบอบการปกครองและระบบเศรษฐกิจแบบคอมมิวนิสต์ ซึ่งระบบเศรษฐกิจแบบคอมมิวนิสน์จะถือว่ารัฐเป็นตัวการสำคัญในการขับเคลื่อนเศรษฐกิจ ซึ่งในการใช้จ่ายในระบบประกันสุขภาพเงินทุนทั้งหมดในการจัดการระบบประกันสุขภาพของประเทศเวียดนามเป็นเงินที่รัฐจ่ายให้ ซึ่งประเทศเวียดนามประสบความสำเร็จในการทำให้การรักษาพยาบาลขั้นปฐมภูมิไม่ต้องเสียค่าใช้จ่ายและประชาชนเข้าถึงการรักษาพยาบาลขั้นทุติยภูมิได้

          ในช่วงหลังจาก พ.ศ. ๒๕๒๓ ประเทศเวียดนามเผชิญกับภาวะเศรษฐกิจตกต่ำทำให้รัฐบาลต้องเริ่มกระบวนการปฏิรูปเศรษฐกิจ ซึ่งในปี พ.ศ. ๒๕๒๙ ประเทศเวียดนามเริ่มมีการปฏิรูประบบเศรษฐกิจใหม่รัฐบาลประกาศให้นโยบายปฏิรูปเศรษฐกิจโด๋ยเม้ย (Doi Moi)[8] โดยการปฏิรูปดังกล่าวเปิดเสรีให้เอกชนสามารถผลิตเวชภัณฑ์ได้ และเริ่มมีการเก็บค่ารักษาพยาบาลในรูปแบบของค่าใช้บริการ (User Fees) รวมถึงเปิดให้เอกชนสามารถดำเนินกิจการโรงพยาบาลและเสนอประกันสุขภาพได้ ทำให้ในช่วงปี พ.ศ. ๒๕๓๓ ประชาชนทั่วไปหากป่วยต้องจ่ายค่ารักษาพยาบาลเองถึงร้อยละ ๗๐ ของค่ารักษาทั้งหมดส่งผลให้รัฐบาลเวียดนามจึงต้องปรับเปลี่ยนนโยบายใหม่อีกครั้งโดยมีการริเริ่มโครงการประกันสุขภาพโดยรัฐขึ้น ในระหว่างปี พ.ศ. ๒๕๓๒ - ๒๕๓๕[9] โครงการประกันสุขภาพดังกล่าวคุ้มครองประชาชนทั่วไปที่สมัครเข้าร่วมโครงการ โดยที่โครงการอยู่ในความดูแลของกระทรวงสาธารณสุข ความพยายามดังกล่าวไม่ได้ ผลค่ารักษาพยาบาลยังคงมีราคาสูงขึ้นทำให้ในปี พ.ศ. ๒๕๓๕ ประเทศเวียดนามประกาศใช้ Decree No. 299/1992/HĐBT ว่าด้วยระบบประกันสุขภาพซึ่งระบบประกันสุขภาพใหม่นี้จะมีลักษณะบังคับให้เจ้าหน้าที่รัฐ เจ้าหน้าที่รัฐวิสาหกิจ รวมถึงพนักงานในบริษัทเอกชนต้องเข้าร่วมโครงการ และใช้วิธีการร่วมกันจ่ายเงินระหว่างนายจ้างและลูกจ้างเข้ากองทุนประกันสุขภาพซึ่งกองทุนจะแบ่งการบริหารจัดการเป็นตามจังหวัด ต่อในปี พ.ศ. ๒๕๔๑ ประเทศเวียดนามได้ตรากฎหมาย Decree 58/1998/ND-CP เพื่อแก้ไขให้กองทุนประกันสุขภาพที่บริหารจัดในระดับจังหวัดรวมกันเป็นการบริหารจัดการระดับประเทศ และขยายความครอบคลุมไปสู่สมาชิกสภาผู้แทนราษฎร ครูในระดับอนุบาล ผู้ด้อยโอกาส และบุคคลในครอบครัวของทหาร และนักเรียนต่างชาติในประเทศเวียดนาม รวมถึงโอนโครงการประกันสุขภาพ (Health Insurance) ที่เดิมบริหารจัดการโดยกระทรวงสาธารณสุขไปให้สำนักงานประกันสังคมดูแลแทน
          ในปี พ.ศ. ๒๕๕๒ ประเทศเวียดนามได้ออกกฎหมายประกันสุขภาพ[10] ซึ่งได้เพิ่มการคุ้มครองจากเดิมที่คุ้มครองแค่ในส่วนของประชาชนเวียดนามที่มีงานประจำและจ่ายเงินเข้ากองทุนขยายให้ครอบคลุมถึงคนจนและชนกลุ่มน้อยให้ได้รับประกันสุขภาพด้วยโดยรัฐบาลจะเป็นฝ่ายจ่ายเงินเข้ากองทุนแทนให้ทำให้ประชาชนประมาณ ๑๕ ล้านคนมีประกันสุขภาพ กฎหมายประกันสุขภาพปี พ.ศ. ๒๕๕๒ มี ๑๐ บท ๕๒ มาตรา มีสาระสำคัญเป็นการกำหนดผู้ที่รับได้การประกันสุขภาพ อัตราการประกันสุขภาพ ความรับผิดและวิธีในการคำนวณค่าใช้จ่าย สิทธิในการได้รับการรักษา สถานพยายาลที่เข้าร่วม

เป้าหมายและความสำเร็จของโครงการประกันสุขภาพ[11]
          ประเทศเวียดนามตั้งเป้าหมายไว้ว่าภายในปี พ.ศ. ๒๕๖๓ ประชาชนร้อยละ ๘๐ จะต้องมีประกันสุขภาพซึ่ง ณ ปัจจุบันจากการให้ข้อมูลของรัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุขประเทศเวียดนามสามารถบรรลุเป้าหมายแล้ว อีกทั้งประเทศเวียดนามได้ออกกฎใหม่ให้ผู้ป่วยสามารถเลือกเข้ารักษาในโรงพยาบาลใดก็ได้เพียงแค่แสดงบัตรสมาชิกโครงการประกันสุขภาพ เป็นการอำนวยความสะดวกให้แก่ประชาชนโดยเฉพาะคนที่มีรายได้น้อยที่มักจะต้องย้ายถิ่นฐานตามไปตามจังหวัดต่าง ๆ ของเวียดนาม ซึ่งต่อไปประเทศเวียดนามจะเริ่มเปิดให้อุตสาหกรรมสาธารณสุขเป็นอุตสาหกรรมที่ต่างชาติสามารถเข้ามาลงทุนได้เพื่อพัฒนาระบบสาธารณสุขในประเทศเวียดนามต่อไป

สรุป
          ประเทศเวียดนามเริ่มพัฒนาระบบประกันสังคมมาตั้งแต่หลังสงครามเวียดนามและมีการพัฒนามาอย่างต่อเนื่อง จากเดิมประเทศเวียดนามใช้ระบบเศรษฐกิจเป็นแบบคอมมิวนิสต์ซึ่งมีแต่รัฐเท่านั้นที่สามารถดำเนินกิจกรรมทางเศรษฐกิจได้เป็นระบบเศรษฐกิจแบบผสมซึ่งเปิดให้เอกชนเข้ามาประกอบธุรกิจได้
โดยมีการแก้กฎหมาย ในด้านการประกันสุขภาพแต่เดิมประเทศเวียดนามซึ่งเป็นระบอบคอมมิวนิสต์การจะเข้ารักษาพยาบาลไม่ต้องเสียค่าใช้จ่ายมากนักรัฐเป็นผู้แบกรับค่าใช้จ่ายทั้งหมด แต่เมื่อเกิดวิกฤตเศรษฐกิจรัฐไม่สามารถบริหารจัดประกันสุขภาพซึ่งเป็นระบบรัฐให้เงินสนับสนุนได้ ทำให้เมื่อเวียดนามมีการปฏิรูประบบเศรษฐกิจ เปิดเสรีด้านอุตสาหกรรมสาธารณสุขให้เอกชนเข้ามาประกอบกิจการเพื่อแบ่งเบาภาระของรัฐได้ และโรงพยาบาลรัฐก็เริ่มที่จะมีการเก็บเงินกับผู้ป่วยเป็นจำนวนเพิ่มมากขึ้นจนประเทศเวียดนามต้องมีการปรับเปลี่ยนนโยบายโดยการเริ่มโครงการประกันสุขภาพขึ้นโดยเป็นระบบร่วมกันจ่ายระหว่างนายจ้างลูกจ้าง และรัฐ เข้ากองทุนเพิ่มนำไปบริหารต่อไป ปัจจุบันประเทศเวียดนามได้บรรลุเป้าหมายของประเทศในการทำให้ประชาคมร้อย ๘๐ มีประกันสุขภาพได้แล้วซึ่งเป้าหมายต่อไปของเวียดนามคือให้ประชาชนเวียดนามทุกคนมีประกันสุขภาพ ภายใน พ.ศ. ๒๕๗๓[12] ในด้านการคุ้มครองแรงงานเวียดนามมีการพัฒนาอย่างต่อเนื่องในการให้สิทธิกับแรงงานมีการนำระบบประกันสังคมมาใช้รวมถึงพัฒนาด้านประกันสุขภาพให้ครอบคลุมประชาชนทุกคน
 
[1] Vietnam Social health insurance, report of study visit 21 – 24 October 2014, Thomas Rousseau, Project collaborator, COOPAMI
[3] https://www.ilo.org/dyn/natlex/docs/MONOGRAPH/91650/114939/F224084256/VNM91650.pdf เข้าถึงเมื่อวันที่ ๒๒ มีนาคม ๒๕๖๐
[4] http://www.ilo.org/dyn/natlex/natlex4.detail?p_lang=en&p_isn=43896 เข้าถึงเมื่อวันที่ ๒๓ มีนาคม ๒๕๖๐
[5] http://www.ilo.org/dyn/natlex/docs/ELECTRONIC/99775/126463/F-1921723198/VNM99775%20Eng.pdf เข้าถึงเมื่อวันที่ ๒๐ มีนาคม ๒๕๖๐
[6] Tran Van Tien, Hoang Thi Phuong, Inke Mathauer, Nguyen Thi Kim Phuong A HEALTH FINANCING REVIEW OF VIET NAM WITH A FOCUS ON SOCIAL HEALTH INSURANCE, WHO
[7] Somanathan, Aparnaa, Ajay Tandon, Huong Lan Dao, Kari L. Hurt, and Hernan L. Fuenzalida-Puelma. 2014. Moving toward Universal Coverage of Social Health Insurance in Vietnam: Assessment and Options. Directions in Development. Washington, DC: World Bank. doi:10.1596/978-1-4648-0261-4. License: Creative Commons Attribution CC BY 3.0 IGO Kari L. Hurt, and Hernan L. Fuenzalida-Puelma
[8] https://en.wikipedia.org/wiki/%C4%90%E1%BB%95i_m%E1%BB%9Bi เข้าถึงเมื่อวันที่ ๒๐ มีนาคม ๒๕๖๐
[9] http://www.who.int/health_financing/documents/oasis_f_11-vietnam.pdf เข้าถึงเมื่อวันที่ ๒๕ มีนาคม ๒๕๖๐
[10] http://www.ilo.org/dyn/natlex/docs/ELECTRONIC/82231/93460/F267089624/VNM82231.pdf เข้าถึงเมื่อวันที่ ๒๕ มีนาคม ๒๕๖๐
[11] http://vietnamnews.vn/politics-laws/372107/health-insurance-card-a-huge-success-minister.html#3p5IS13pqe0Oz0Bt.97 เข้าถึงเมื่อวันที่ ๒๕ มีนาคม ๒๕๖๐
[12] http://english.vietnamnet.vn/fms/business/175296/health-coverage-improves-as-vietnam-experiences-demographic-changes.html เข้าถึงเมื่อวันที่ ๒๖ มีนาคม ๒๕๖๐

© 2016 Office of the Council of State.