BANNER

จีนและอาเซียนร่วมสร้างวิสัยทัศน์เพื่อพัฒนาความร่วมมือและก้าวไปสู่ความสำเร็จ


 ข่าวต่างประเทศ      09 Oct 2018

  


         


          วันที่ ๘ ตุลาคมถือเป็นหนึ่งในวันสำคัญทางประวัติศาสตร์สำหรับจีนและอาเซียน เนื่องจากเมื่อวันที่ ๘ ตุลาคม พ.ศ. ๒๕๔๖ ผู้นำของจีนและประเทศอาเซียนได้ลงนามร่วมกันในปฏิญญาว่าด้วยความเป็นหุ้นส่วนทางยุทธศาสตร์เพื่อสันติภาพและความสำเร็จ ณ เมืองบาหลี ประเทศอินโดนีเซีย และทำให้จีนกลายเป็นคู่เจรจาในฐานะหุ้นส่วนทางยุทธศาสตร์อันดับหนึ่งของอาเซียนจนปัจจุบัน 
          กว่า ๑๕ ปีที่จีนและอาเซียนได้สร้างความร่วมมืออย่างรอบด้านผ่านการเป็นหุ้นส่วนทางยุทธศาสตร์ โดยความสำเร็จในด้านเศรษฐกิจปรากฎให้เห็นจากปริมาณการค้าของทั้งสองฝ่ายที่เพิ่มขึ้นเกือบสิบเท่าจาก ๕๕.๒ พันล้านเหรียญสหรัฐเป็น ๕๑๔.๘ พันล้านเหรียญ (หรือประมาณ ๑๖.๙ ล้านล้านบาท) และในส่วนของความเชื่อมโยงด้านสังคมและวัฒนธรรมมีจำนวนประชากรเพิ่มขึ้นจาก ๓.๘๗ ล้านคน เป็น ๔๙ ล้านคน   โดยเพิ่มขึ้นเกือบ ๑๓ เท่าและจะขยายเป็น ๕๐ ล้านคนในอนาคต  นอกจากนี้ จีนยังเป็นประเทศคู่ค้ารายใหญ่ที่สุดของอาเซียนมาเป็นเวลากว่า ๙ ปี และในขณะเดียวกันอาเซียนก็ถือเป็นประเทศคู่ค้าอันดับสามของจีนมาเป็นเวลากว่า ๗ ปี 
          ในด้านการลงทุน จีนและอาเซียนมีมูลค่าการลงทุนมากกว่า ๒๐๐ ล้านเหรียญสหรัฐ ซึ่งจะมีจำนวนเพิ่มขึ้นเป็น ๔๐๐๐ ล้านเหรียญสหรัฐ ซึ่งมีกลุ่มบริษัทในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้มากกว่า ๔๐๐๐ แห่งที่มีการลงทุนในจีน และมีการลงทุนโดยตรงจากจีนและมีพนักงานท้องถิ่นจำนวนกว่า ๓๐๐,๐๐๐ คน ความสัมพันธ์อันแน่นแฟ้นระหว่างจีนและอาเซียนเป็นสิ่งที่พิสูจน์ให้เห็นว่าประชากรกว่าสองพันล้านคนของทั้งสองฝ่ายมีส่วนสำคัญอย่างยิ่งต่อการสร้างสันติภาพ ความมั่นคง และความสำเร็จให้กับจีนและอาเซียน
          สำหรับประเด็นความสัมพันธ์ของจีนและอาเซียนในอนาคตนั้น Xi Jinping ประธานาธิบดีของจีนได้เน้นย้ำให้ทั้งสองฝ่ายส่งเสริมความเป็นหุ้นส่วนเชิงยุทธศาสตร์ในระดับที่สูงขึ้นและสร้างความร่วมมืออย่างใกล้ชิดกันมากยิ่งขึ้นต่อไป และในโอกาสที่ผู้นำของจีนได้เยือนสำนักเลขาธิการอาเซียนเมื่อเดือนพฤษภาคมที่ผ่านมานั้น นาย Li Keqiang นายกรัฐมนตรีจีนได้กล่าวถึงการส่งเสริมความสัมพันธ์ระหว่างจีนกับอาเซียนเพื่อสนับสนุนความเป็นหุ้นส่วนระหว่างกันในด้านต่าง ๆ ได้แก่ ความเป็นหุ้นส่วนเพื่อการพัฒนาและการสร้างสันติภาพ การเปิดกว้างและผสานผลประโยชน์ร่วมกัน การพัฒนานวัตกรรม รวมถึงการส่งเสริมความเท่าเทียมและการเรียนรู้ร่วมกัน  ทั้งนี้ ในเดือนพฤศจิกายนผู้นำจีนและอาเซียนจะประชุมร่วมกันที่สิงคโปร์ในประเด็นเกี่ยวกับ “วิสัยทัศน์ความเป็นหุ้นส่วนทางยุทธศาสตร์จีนและอาเซียน ๒๐๓๐” โดยจะเป็นการเสริมสร้างความร่วมมือระหว่างโครงการเส้นทางสายไหมศตวรรษ ๒๑ (Belt and Road initiative) ของจีนกับแผนแม่บทว่าด้วยการเชื่อมโยงของอาเซียน รวมถึงส่งเสริมความร่วมมือด้านนวัตกรรมและการลงทุนเพื่อให้เกิดการเชื่อมโยงทางสังคมวัฒนธรรมและประชาชนของจีนและอาเซียน โดยการประชุมครั้งนี้จะเป็นการประชุมเกี่ยวกับกรอบความร่วมมือใหม่ภายใต้ประชาคมการเมืองและความมั่นคง ความร่วมมือทางเศรษฐกิจ และการแลกเปลี่ยนวัฒนธรรมระหว่างจีนกับอาเซียน  
           ด้านความมั่นคง จีนและอาเซียนยังคงมีความมุ่งมั่นที่จะสร้างสันติภาพร่วมกัน โดยจีนจะให้การสนับสนุนอาเซียนในฐานะศูนย์กลางสถาปัตยกรรมในภูมิภาคเอเชียแปซิฟิก และจะยึดหลักการตามกฎหมายระหว่างประเทศและหลักที่ได้รับการยอมรับในระดับสากล จีนและอาเซียนเห็นพ้องร่วมกันในการจัดทำร่างการเจรจาเพื่อยุติปัญหาในทะเลจีนใต้ ซึ่งกระบวนการดังกล่าวแสดงให้เห็นว่าจีนและภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้มีความสามารถในการรักษาสันติภาพและความมั่นคงในทะเลจีนใต้ด้วยหลักการในระดับภูมิภาคที่ทุกฝ่ายสามารถปฏิบัติได้ 
                ด้านการค้าระหว่างจีนและอาเซียน ทั้งสองฝ่ายมุ่งมั่นที่จะเป็นหุ้นส่วนกันอย่างใกล้ชิดต่อไปและจะให้การสนับสนุนการค้าเสรีและระบบเศรษฐกิจภายใต้กระบวนการโลกาภิวัตน์ จีนจะทำงานร่วมกับอาเซียนเพื่อมุ่งไปสู่การบรรลุความตกลงหุ้นส่วนทางเศรษฐกิจระดับภูมิภาค (Regional Comprehensive Economic Partnership: RCEP) รวมทั้งต่อต้านระบบขั้วอำนาจเดียว (unilateralism) และการคุ้มครองทางการค้า (protectionism) ตลอดจนสนับสนุนระบบการค้าแบบพหุภาคีและผลักดันการเติบโตของภูมิภาคและโลกร่วมกัน อาเซียนและจีนจะสร้างความเป็นอันหนึ่งเดียวกันให้เกิดขึ้นท่ามกลางความแตกต่างและสนับสนุนกลไกของอาเซียนเพื่อต่อต้านลัทธินิยมความรุนแรง โดยจีนพร้อมที่จะทำงานร่วมกับอาเซียนเพื่อส่งเสริมความร่วมมือด้านวัฒนธรรม การศึกษา การท่องเที่ยว รวมทั้งส่งเสริมการเจรจาระหว่างกันเพื่อเกิดการเติบโตอย่างเท่าเทียมและยั่งยืน ตลอดจนมีความเป็นหนึ่งเดียวกันในสังคม 



แปลและเรียบเรียงจาก: http://www.nationmultimedia.com/detail/opinion/30355999  

© 2016 Office of the Council of State.