BANNER

การประชุมผู้นำของประเทศสมาชิกอาเซียน: การประชุมผู้ว่าราชการจังหวัดและนายกเทศมนตรีอาเซียน ครั้งที่ ๗ (7th Meeting of Governors/Mayors of ASEAN Capitals: MGMAC 2019)


 ข่าวต่างประเทศ      08 Jul 2019

  


ภาพจาก https://www.bangkokpost.com
               นายอัศวิน ขวัญเมือง ผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานครเป็นประธานเปิดการประชุมผู้ว่าราชการจังหวัดและนายกเทศมนตรีอาเซียน ครั้งที่ ๗ (7th Meeting of Governors/Mayors of ASEAN Capitals: MGMAC 2019) ณ โรมแรมแชงกรี – ลา เขตบางรัก กรุงเทพมหานคร จัดขึ้นโดยกรุงเทพมหานครเพื่อให้เป็นเวทีในการส่งเสริมความร่วมมือในกรอบอาเซียนและแลกเปลี่ยนความคิดเห็นและประสบการณ์ของผู้ว่าราชการจังหวัดและนายกเทศมนตรีของประเทศสมาชิกอาเซียน การประชุมดังกล่าวจะจัดขึ้นที่เมืองหลวงของประเทศสมาชิกอาเซียน และจะหมุนเวียนเป็นเจ้าภาพตำแหน่งประธานอาเซียนในปีนั้น ๆ โดยในปี พ.ศ. ๒๕๖๒ ประเทศไทยได้รับเกียรติให้ดำรงตำแหน่งประธานอาเซียน
        ผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานครกล่าวว่าการประชุมผู้ว่าราชการจังหวัดและนายกเทศมนตรีของอาเซียนเป็นเวทีสำหรับผู้นำอาเซียนในการแบ่งปันประสบการณ์และความสำเร็จในการทำงานภายใต้เสาหลักของอาเซียน ผลลัพธ์จากการประชุมจะทำให้ได้เรียนรู้ระหว่างกันเพื่อสร้างเครือข่ายการเรียนรู้และเสริมสร้างความสามัคคีในอาเซียน สำหรับหัวข้อหลักของการประชุมในครั้งนี้คือการส่งเสริมเครือข่ายความร่วมมือเพื่ออนาคตที่ยั่งยืน ซึ่งเป็นโอกาสที่ดีสำหรับผู้นำอาเซียนในการแลกเปลี่ยนความรู้ ความคิดเห็น นโยบายและแนวทางปฏิบัติในด้านต่าง ๆ ที่เป็นเลิศ สำหรับการจัดการเมืองให้ประสิทธิภาพเพื่อเตรียมรับมือกับความท้าทายที่จะเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง และการพัฒนาคุณภาพชีวิตของผู้คน ซึ่งนับว่าเป็นเป้าหมายที่สำคัญ
          สำหรับกิจกรรมในช่วงแรก ผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานครเป็นประธานเปิดการประชุมและต่อด้วยการบรรยายพิเศษโดยดร.พันธุ์อาจ ชัยรัตน์ ผู้อำนวยการสำนักงานนวัตกรรมแห่งชาติ (องค์การมหาชน) ในหัวข้อ การส่งเสริมเครือข่ายความร่วมมือเพื่ออนาคตที่ยั่งยืน จากนั้นเป็นการประชุมระหว่างผู้นำ ด้านการลงทุนเพื่อแบ่งปันประสบการณ์และความสำเร็จในการดำเนินโครงการของเมืองต่าง ๆ ตามเสาหลักของอาเซียน ๓ เสา ได้แก่ ๑. ประชาคมการเมืองความมั่นคง ๒. ประชาคมเศรษฐกิจ และ ๓. ประชาคมสังคมและวัฒนธรรม
          ในการประชุมดังกล่าวผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานครได้เสนอแนวคิดและความสำเร็จของกรุงเทพมหานครในประเด็นที่เกี่ยวข้องกับการพัฒนาศักยภาพและคุณภาพของเยาวชนในเขตกรุงเทพมหานคร ตลอดจนการพัฒนาแหล่งท่องเที่ยวทางวัฒนธรรมเพื่อการพัฒนาศักยภาพและคุณภาพของเยาวชนในเขตกรุงเทพมหานคร รวมทั้งนำเสนอโครงการเพื่อสร้างแรงบันดาลใจในการเรียนภาษาที่สอง โดยตลอด ๒ ปีที่ผ่านมาได้มุ่งมั่นการสร้างแรงบันดาลใจในการเรียนรู้ภาษาต่างประเทศแก่เยาวชน ซึ่งหลังจากเข้าร่วมโครงการพบว่าเยาวชนมีความสนใจในการเรียนรู้มากขึ้น สำหรับการพัฒนาแหล่งท่องเที่ยวทางวัฒนธรรม กรุงเทพฯ ได้ให้ความสำคัญกับวัฒนธรรมท้องถิ่นพร้อมกับการอนุรักษ์แหล่งท่องเที่ยว เช่น ตลาดโบราณหัวตะเข้ ซึ่งคณะผู้แทนได้เดินทางไปศึกษาพื้นที่จริงเมื่อวันที่ ๒๘  มิถุนายน พ.ศ. ๒๕๖๒ โดยเป็นการพัฒนาผลิตภัณฑ์ใหม่ ๆ และอนุรักษ์สิ่งเก่าไว้ร่วมกัน
        จากนั้นที่ประชุมได้แลกเปลี่ยนความคิดเห็นเกี่ยวกับปัญหาและแนวทางปฏิบัติด้านการศึกษาของกรุงเทพฯ โดยผู้แทนจากมาเลเซียเห็นว่าประเทศไทยและมาเลเซียมีพรมแดนติดต่อกันสามารถแลกเปลี่ยนนักเรียนนักศึกษาเพื่อสร้างความสัมพันธ์ที่ดีในอนาคต และผู้แทนจากราชอาณาจักรกัมพูชาได้แสดงความเห็นว่ากัมพูชาจะเรียนรู้ประสบการณ์ของกรุงเทพฯ ซึ่งไม่เพียงแต่ที่อยู่ในกรอบของอาเซียน แต่จะส่งผู้แทนเพื่อเรียนรู้แนวทางปฏิบัติที่ดีเลิศจากกรุงเทพฯ ด้วยในอนาคต  นอกจากนี้ ผู้แทนของสาธารณรัฐประชาธิปไตยประชาชนลาวกล่าวเห็นด้วยกับกรุงเทพฯ และเห็นว่าการพัฒนาเมืองเป็นประเด็นสำคัญต่อการพัฒนาการศึกษา
        ประเทศต่าง ๆ ได้ร่วมกันนำเสนอโครงการและประสบการณ์การทำงานที่สำคัญ โดยนาย Sihun Sidthilusai รองนายกเทศมนตรี ตัวแทนจากสาธารณรัฐประชาธิปไตยประชาชนลาวได้นำเสนอด้านการพัฒนาการท่องเที่ยว นาย Ridzuan Ahmad นายกเทศมนตรี ตัวแทนจากบรูไนได้แบ่งปันประสบการณ์ด้านความปลอดภัยสาธารณะและสิ่งแวดล้อม ในส่วนของนาย Nuon Pharat รองผู้ว่าราชการจากกัมพูชานำเสนอโครงการจัดการน้ำท่วมซึ่งได้รับความร่วมมือจากองค์การความร่วมมือระหว่างประเทศแห่งญี่ปุ่น (Japan International Cooperation Agency: JICA) ดาโต๊ะ Nor Hisham Bin Ah Dhalan นายกเทศมนตรีของกรุงกัวลาลัมเปอร์มาเลเซียนำเสนอการจัดการเมืองคาร์บอนต่ำ ด้านนาย Ye Tune ตัวแทนจากเมียนมาแบ่งปันประสบการณ์การพัฒนาเมืองอย่างยั่งยืน นาย Desmond Shuping นายกเทศมนตรีตัวแทนจากสิงคโปร์นำเสนอความสำเร็จของการจัดการสังคมผู้สูงอายุ และนาย Le Hong Son เวียดนามนำเสนอภาพรวมของการท่องเที่ยวเชิงวัฒนธรรมในกรุงฮานอย (ฟิลิปปินส์ไม่ได้ส่งตัวแทนเข้าร่วมการประชุมนี้)
          ในการนี้ ประเทศสมาชิกอาเซียน ๙ ประเทศ ได้ร่วมลงนามในปฏิญญากรุงเทพฯ โดยกรอบความร่วมมือดังกล่าวครอบคลุมการดำเนินงานในหลากหลายด้านด้วยกัน เช่น การพัฒนาเป็นชุมชนที่ยั่งยืนโดยมุ่งส่งเสริมการท่องเที่ยวทางวัฒนธรรมและการพัฒนาเศรษฐกิจชุมชนผ่านการสนับสนุนชุมชนท้องถิ่นและพัฒนาทรัพยากรท้องถิ่น รวมถึงสร้างขีดความสามารถให้กับท้องถิ่นและรักษาสภาพแวดล้อมในเมือง ยกระดับความร่วมมือระหว่างภาครัฐและเอกชนในพัฒนาวิธีการแก้ไขปัญหาสำหรับเมืองสมัยใหม่ ส่งเสริมสภาพแวดล้อมที่ดีและการให้บริการสาธารณะแก่ประชาชน ตลอดจนตระหนักถึงการก้าวเข้าสู่สังคมผู้สูงอายุ มุ่งให้เกิดการจัดทำนโยบายสำหรับการดูแลผู้สูงอายุในเมืองหลวงของประเทศสมาชิก รวมถึงการทำงานเพื่อสร้างนโยบายที่เป็นประโยชน์โดยมีสภาพแวดล้อมและเทคโนโลยีที่สนับสนุนความต้องการของผู้สูงอายุและส่งเสริมให้ผู้สูงอายุมีชีวิตที่ดีขึ้น

แปลและเรียบเรียงจาก 
https://www.bangkokpost.com/thailand/pr/1707594/leaders-meeting-of-the-7th-asean-member-states-mgmac-2019

© 2016 Office of the Council of State.