BANNER

สรุปประเด็นสำคัญในการประชุมสหประชาชาติว่าด้วยการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ ครั้งที่ ๒๗ (COP27) ที่ประเทศอียิปต์


 ข่าวต่างประเทศ      06 Dec 2022

  


การประชุม COP27 หรือ การประชุมสหประชาชาติว่าด้วยการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ ครั้งที่ ๒๗ ที่จัดขึ้น ณ เมืองชาร์ม เอล ชีค (Sharm el-Sheikh) ซึ่งเป็นเมืองของอียิปต์ทางตอนใต้สุดของคาบสมุทรซีนาย (Sinia) ในวันที่ ๖ - ๑๘ พฤศจิกายน พ.ศ. ๒๕๖๕ ที่ผ่านมา ประเทศต่าง ๆ เกือบ ๒๐๐ ประเทศที่เข้าร่วมการประชุมรัฐภาคีภายใต้กรอบอนุสัญญาสหประชาชาติว่าด้วยการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ (Conference of Parties: COP) ได้บรรลุข้อตกลงสำคัญต่าง ๆ ที่เกี่ยวข้องกับการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ แต่ยังคงมีหลายประเด็นที่ยังไม่สามารถตกลงกันได้ เนื่องจากข้อโต้แย้งของแต่ละประเทศ
สรุปประเด็นการประชุม มีดังนี้
  • ความเสียหายและการสูญเสีย
สิ่งที่สำคัญในตอนนี้คือเงินสนับสนุนเพื่อช่วยให้ประเทศต่าง ๆ นำไปจัดการกับผลกระทบจากการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ โดยเฉพาะในกลุ่มประเทศกำลังพัฒนา เช่น ตูวาลูที่มีสภาพทางภูมิศาสตร์เป็นเกาะ ปัจจุบันต้องเผชิญกับภัยแล้ง ขณะเดียวกันระดับน้ำทะเลที่กำลังเพิ่มสูงขึ้นก็โอบล้อมรอบพื้นที่เกาะและมีแนวโน้มว่าจะกินพื้นที่เกาะเข้ามาเรื่อย ๆ รัฐมนตรีกระทรวงการคลังประเทศอียิปต์กล่าวว่า ตอนนี้ผู้คนกำลังขาดแคลนน้ำเพื่ออุปโภคบริโภค พวกเขาถูกจำกัดปริมาณการใช้น้ำเหลือเพียงสองหรือสามถังต่อวัน จึงมีการเรียกร้องให้มีการจัดตั้งแหล่งเงินทุนแห่งใหม่ในอียิปต์เพื่อให้ความช่วยเหลือ
กลุ่มประเทศร่ำรวยได้ต่อต้านข้อเรียกร้องดังกล่าวและบ่ายเบี่ยงเรื่องการจัดหาเงินทุนมาตลอดระยะเวลา ๓๐ ปี เนื่องจากกังวลว่าประเทศของตนเป็นปัจจัยสำคัญในการทำให้เกิดการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศในอดีต และพวกเขาจะต้องจ่ายเงินเพื่อชดเชยเยียวยาเป็นเวลาหลายศตวรรษข้างหน้า
  • การเลิกใช้เชื้อเพลิงฟอสซิลทั้งหมด
ประเด็นนี้เคยมีการหารือในการประชุม COP26 เมื่อปีที่แล้ว แต่ก็เป็นข้อตกลงที่ไม่สามารถบรรลุผลได้ เนื่องจากประเทศที่ร่ำรวยต้องการให้เลิกใช้เชื้อเพลิงฟอสซิลที่พบว่าเป็นสาเหตุของการก่อมลพิษมากที่สุด จึงมีนโยบายจะจ่ายเงินสนับสนุนเพื่อให้ประเทศเหล่านี้เลิกใช้เชื้อเพลิงจากฟอสซิลและเลิกกิจกรรมต่าง ๆ ทำให้เกิดมลพิษ แต่ประเทศที่กำลังพัฒนาขนาดใหญ่อย่างอินเดียและจีนไม่สามารถทำเช่นนั้นได้
ซึ่งในประเด็นดังกล่าวนักการทูตจากนานาประเทศก็พยายามที่จะหาทางประนีประนอม และเห็นว่าควรจะเปลี่ยนเป็นการ “ลดการใช้” มากกว่า “เลิกใช้” เชื้อเพลิงฟอสซิล นอกจากนี้ อินเดียและอีกหลายประเทศต้องการให้การควบคุมการใช้เชื้อเพลิงฟอสซิลครอบคลุมไปถึงน้ำมันและก๊าซด้วย
  • การรักษาอุณหภูมิโลกไม่ให้เพิ่มขึ้นมากกว่า ๑.๕ องศาเซลเซียส
ข้อตกลงจาก COP27 ยังคงยึดมั่นคำสัญญาที่จะจำกัดอุณหภูมิของโลกไม่ให้เพิ่มขึ้นมากกว่า ๑.๕ องศาเซลเซียสเมื่อเทียบกับช่วงก่อนยุคอุตสาหกรรม รายงานของโครงการสิ่งแวดล้อมแห่งสหประชาชาติ (United Nations Environment Programme) เมื่อสัปดาห์ที่แล้วชี้ว่า หากไม่สามารถทำได้ตามเป้าหมายนี้ จะทำให้ผู้คนหลายล้านคนอาจเผชิญกับผลกระทบด้านการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศที่เลวร้าย ขณะที่ผู้เชี่ยวชาญจำนวนมากระบุว่า นโยบายที่ใช้อยู่ในปัจจุบันนี้ จะทำให้โลกมีอุณหภูมิเพิ่มขึ้นประมาณ ๒.๗ องศาเซลเซียส
  • ความขัดแย้งระหว่างสหรัฐอเมริกาและจีน
ตามธรรมเนียมแล้ว ประเทศที่พัฒนาแล้วจะต้องมอบเงินสนับสนุนประเทศที่ได้รับผลกระทบจากการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ แต่ประเทศเศรษฐกิจเกิดใหม่ขนาดใหญ่ เช่น อินเดีย จีน และบราซิลไม่ต้องรับผิดชอบ แต่เนื่องจากต้องใช้เงินสนับสนุนจำนวนมาก ขณะนี้สหรัฐอเมริกาและสหภาพยุโรปจึงต้องการให้มีประเทศที่มีส่วนร่วมในการจ่ายเงินสนับสนุนเพิ่มขึ้น และจีนก็อยู่ในอันดับต้น ๆ ที่หลายประเทศเล็งเห็นว่าควรมีส่วนร่วม
Bernice Lee จาก Chatham House กล่าวว่า ภายในสิ้นทศวรรษนี้ จีนสามารถแซงหน้าสหรัฐฯ ในด้านของปริมาณการปล่อยมลพิษสะสมในอดีต และเป็นประเทศที่มีเศรษฐกิจใหญ่เป็นอันดับสองของโลก
อย่างไรก็ตาม ในด้านความรับผิดชอบของสหรัฐอเมริกา ผู้ปล่อยก๊าซเรือนกระจกรายใหญ่ที่สุดของโลก ในการจ่ายเงินเพื่อสนับสนุนประเทศกำลังพัฒนาที่กำลังเผชิญวิกฤตจากความเปลี่ยนแปลงของสภาพอากาศนั้น กลับมีความล้มเหลวอย่างต่อเนื่อง และขณะนี้ยังไม่มีการระบุรายละเอียดว่า ประเทศต่าง ๆ จะได้เงินสนับสนุนนี้มากแค่ไหน และจะได้รับเงินเมื่อไหร่

ข่าวประจำวันที่ ๒๘ พฤศจิกายน ๒๕๖๕
แปลและเรียบเรียงจาก https://www.bbc.com/news/science-environment-63666086
https://thestandard.co/cop27-what-have-they-done-2022/
*บทความในเว็บไซต์เป็นผลงานทางวิชาการของผู้เขียนเว็บไซต์ LawforASEAN / สำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกาไม่จำเป็นต้องเห็นพ้องด้วย
 

© 2016 Office of the Council of State.