BANNER

สหภาพยุโรปมีมติเห็นชอบกฎหมายป้องกันการนำเข้าสินค้าที่เชื่อมโยงกับการตัดไม้ทำลายป่า


 ข่าวต่างประเทศ      06 Jan 2023

  


          เมื่อวันที่ ๖ ธันวาคม พ.ศ. ๒๕๖๕ สหภาพยุโรปได้ลงมติเห็นชอบร่างกฎหมายใหม่ ที่มีวัตถุประสงค์ป้องกันบริษัทที่ขายสินค้าจำพวกกาแฟ เนื้อวัว ถั่วเหลือง และผลิตภัณฑ์อื่น ๆ ที่เชื่อมโยงกับปัญหาการตัดไม้ทำลายป่าทั่วโลกมิให้ขายสินค้าให้กับสหภาพยุโรป
กฎหมายดังกล่าวกำหนดให้บริษัทต่าง ๆ ต้องจัดทำรายงานการตรวจสอบสถานะเพื่อพิสูจน์ว่าห่วงโซ่ในกระบวนการผลิตสินค้าของตนไม่มีส่วนเกี่ยวข้องกับการตัดไม้ทำลายป่าก่อนที่สินค้าจะถูกส่งขายไปยังสหภาพยุโรป มิเช่นนั้นอาจถูกปรับเป็นเงินจำนวนมาก
          โดยกฎหมายนี้จะนำไปใช้กับผลิตภัณฑ์หลายชนิด ได้แก่ ถั่วเหลือง เนื้อวัว น้ำมันปาล์ม ไม้ โกโก้ กาแฟ และผลิตภัณฑ์ที่ได้จากพืชบางชนิด เช่น เครื่องหนัง ช็อกโกแลต เฟอร์นิเจอร์ ยาง และถ่าน ตามคำร้องขอของฝ่ายนิติบัญญัติของสหภาพยุโรป
          Christophe Hansen หัวหน้าคณะเจรจาของรัฐสภาสหภาพยุโรปกล่าวว่า “ผมหวังว่ากฎระเบียบใหม่นี้จะเป็นแรงผลักดันในการปกป้องผืนป่าทั่วโลกและสร้างแรงบันดาลใจให้กับประเทศอื่น ๆ ในการประชุมรัฐภาคีอนุสัญญาว่าด้วยความหลากหลายทางชีวภาพ ตามกรอบอนุสัญญาสหประชาชาติว่าด้วยการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ หรือ COP15”
          การตัดไม้ทำลายป่าคิดเป็นร้อยละ ๑๐ ของการปล่อยก๊าซเรือนกระจกทั่วโลกและเป็นปัจจัยสำคัญที่ทำให้เกิดการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ (Climate Change) และเป็นประเด็นที่ต้องหารือในการประชุม COP15 ของสหประชาชาติซึ่งจัดขึ้นในสัปดาห์เดียวกัน
          บริษัทต่างๆ จำเป็นต้องรายงานว่าสินค้าของตนถูกผลิตเมื่อใดและที่ไหน รวมทั้งข้อมูลที่ “ตรวจสอบได้” ว่าสินค้าเหล่านั้นไม่ได้มาจากการปลูกบนพื้นที่พื้นที่ตัดไม้ทำลายป่าหลังจากปี พ.ศ. ๒๕๖๓ บริษัทที่ไม่ปฏิบัติตามกฎหมายดังกล่าวอาจถูกปรับสูงถึง 4% ของผลประกอบการของบริษัทในกลุ่มสหภาพยุโรป
ประเทศที่จะได้รับผลกระทบจากกฎหมายใหม่ ได้แก่ บราซิล อินโดนีเซีย และโคลอมเบีย ซึ่งต่างกล่าวว่าข้อกำหนดดังกล่าวก่อให้เกิดภาระหนักและค่าใช้จ่ายที่สูง และการตรวจสอบนั้นก็ทำได้ยากอีกด้วย



ข่าวประจำวันที่ ๑๕ ธันวาคม ๒๕๖๕
แปลและเรียบเรียงจาก https://www.reuters.com/business/environment/eu-agrees-law-preventing-import-goods-linked-deforestation-2022-12-06/
*บทความในเว็บไซต์เป็นผลงานทางวิชาการของผู้เขียนเว็บไซต์ LawforASEAN / สำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกาไม่จำเป็นต้องเห็นพ้องด้วย

© 2016 Office of the Council of State.