BANNER

การเชื่อมโยงระบบการชำระเงินในอาเซียนเป็นก้าวสำคัญที่จะนำไปสู่การลดต้นทุนในการทำธุรกรรมทางการเงิน


 ข่าวต่างประเทศ      08 Apr 2019

  


               

               แรงงานข้ามชาติ นักท่องเที่ยว และธุรกิจขนาดทั้งขนาดเล็กและขนาดใหญ่สามารถลดต้นทุนของการทำธุรกรรมการเงินในอาเซียน หลังจากที่ผู้กำหนดกฎระเบียบ ธนาคาร และสถาบันการเงินที่ไม่ใช่ธนาคารตัดสินใจที่จะประสานความร่วมมือในการให้บริการทางการเงินในภูมิภาค
          ประเทศสมาชิกอาเซียน ๘ ประเทศเห็นพ้องที่จะเชื่อมโยงระบบการชำระเงินในอาเซียนซึ่งมีวัตถุประสงค์เพื่อลดค่าธรรมเนียมในการทำธุรกรรมสำหรับแรงงานข้ามชาติ นักท่องเที่ยว และนักธุรกิจความร่วมมือดังกล่าวเกิดขึ้นในการประชุมรัฐมนตรีอาเซียนทางการเงินและธนาคารกลาง ณ จังหวัดเชียงราย เมื่อวันที่ ๓ เมษายน พ.ศ. ๒๕๖๒ โดยนายวิรไท สันติประภพ ผู้ว่าการธนาคารแห่งประเทศไทยและนาย Perry Warjiyo ผู้ว่าการธนาคารกลางของอินโดนีเซียได้ร่วมลงนามบันทึกความเข้าใจว่าด้วย
ความร่วมมือเกี่ยวกับระบบการชำระเงินและนวัตกรรมทางการเงิน (Memorandum of understanding on Cooperation in the Area of Payment Systems and Financial Innovation)

          นอกจากนี้ นายวิรไทและนาย Sonexay Sitphaxay ผู้ว่าการธนาคารลาวได้ลงนามในบันทึกความเข้าใจว่าด้วยความร่วมมือเกี่ยวกับนวัตกรรมทางการเงินและระบบการชำระเงิน (Memorandum of understanding on Cooperation in the Areas of Financial Innovation and Payments Systems) โดยบันทึกความเข้าใจดังกล่าวมีวัตถุประสงค์ในการเพิ่มประสิทธิภาพและความปลอดภัยในการทำธุรกรรมทั้งในประเทศและการทำธุรกรรมทางการเงินระหว่างประเทศ รวมทั้งส่งเสริมการใช้สกุลเงินท้องถิ่นให้เพิ่มขึ้น ธนาคารกลางทั้งสองแห่งร่วมกันพัฒนารหัสคิวอาร์ (QR Code) สำหรับการชำระเงินและการโอนเงินข้ามประเทศแบบทันที (real-time remittance) เพื่ออำนวยความสะดวกสำหรับการซื้อขายสินค้าระหว่างไทยกับลาว นายวีรไทกล่าวว่า สถาบันการเงินของทั้งสองประเทศได้ร่วมกันพัฒนาระบบการชำระเงินระหว่างประเทศผ่านระบบรหัสคิวอาร์ (QR Code) เพื่อให้การชำระเงินระหว่างประเทศนั้นเป็นไปโดยง่ายและสะดวกสำหรับนักท่องเที่ยวไทยและลาว รวมถึงกลุ่มวิสาหกิจขนาดเล็กและขนาดกลางของไทยและลาวให้ได้มีระบบการชำระเงินที่มีประสิทธิภาพ โดยความคืบหน้าของระบบการชำระเงินระหว่างประเทศของไทย
และลาวได้นำเทคโนโลยีบล็อกเชน (Blockchain Technology) มาใช้ในการโอนเงิน

          ในการนี้ ธนาคารธนชาติได้เข้าร่วมการใช้ระบบการชำระเงินข้ามพรมแดนผ่านรหัสคิวอาร์โดยธนาคารธนชาติได้ร่วมมือกับธนาคาร Banque Pour Le Commerce Exterieur Lao Public ซึ่งเป็นธนาคารพาณิชย์ที่ใหญ่ที่สุดของลาวเปิดระบบการชำระเงินผ่านรหัสคิวอาร์สำหรับนักท่องเที่ยวลาวที่เข้ามาในประเทศไทย นายอนุวัติร์ เหลืองทวีกุล รองกรรมการผู้จัดการเครือข่ายลูกค้ารายย่อยและธุรกิจขนาดเล็กของธนาคารธนชาติกล่าวว่า ไทยและลาวจะเปิดบริการชำระเงินข้ามพรมแดนผ่านรหัสคิวอาร์ (QR Code)
สำหรับนักท่องเที่ยวไทยและลาวอย่างเป็นทางการ  นอกจากนี้ ธนาคารแห่งประเทศไทยตกลงที่จะร่วมมือกับธนาคารกลางของกัมพูชา เมียนมา มาเลเซีย ฟิลิปปินส์ และสิงคโปร์ในการเชื่อมโยงกันทางการเงินซึ่งทั้งธนาคารและสถาบันการเงินที่ไม่ใช่ธนาคารในอาเซียนจะเข้าร่วมความร่วมมือดังกล่าว

          นอกจากนี้ นายวิรไทได้กล่าวเสริมว่า ความร่วมมือระหว่างธนาคารและสถาบันการเงินที่ไม่ใช่ธนาคาร บริษัทผู้ออกบัตรเครดิตจะรพัฒนาบริการชำระเงินข้ามประเทศด้วยการใช้เทคโนโลยีที่ทันสมัย ไม่ว่าจะเป็นการใช้เทคโนโลยีรหัสคิวอาร์ (QR Code) เทคโนโลยีบล็อกเชน (Blockchain) การใช้โปรแกรมประยุกต์ (application programming interface: API) และเครือข่ายบัตรสำหรับชำระเงิน โดยบริการรูปแบบใหม่ ๆ ดังกล่าวจะสามารถตอบสนองความต้องการของกลุ่มลูกค้าที่แตกต่างกันได้ และจะช่วยในการยกระดับประสิทธิภาพระบบการเงินในภูมิภาค อำนวยความสะดวกให้กับการทำธุรกรรมทางการเงินระหว่างภาคธุรกิจและการค้าระหว่างประเทศ อีกทั้งยังช่วยลดต้นทุนของผู้ให้บริการและลูกค้า รวมถึงส่งเสริมการเข้าถึงระบบการเงินอย่างทั่วถึงให้กับประชาชนในภูมิภาค  ทั้งนี้ ความร่วมมือทางการเงินของอาเซียนจะช่วยลดอัตราความเสี่ยงในการแลกเปลี่ยนและปรับปรุงกระบวนการเกี่ยวกับธุรกรรมการเงิน โดยนางสาวสิริธิดา พนมวัน ณ อยุธยา ผู้ช่วยผู้ว่าการสายนโยบายระบบการชำระเงินและเทคโนโลยีทางการเงินได้กล่าวเพิ่มเติมว่า ในปัจจุบัน แรงงานข้ามชาติที่ส่งเงินกลับประเทศภูมิลำเนาจะต้องเผชิญกับค่าบริการที่สูงในการโอนเงินระหว่างประเทศ เช่น กรณีของคนไทยหากจะโอนเงินจำนวน ๕๐๐ ดอลลาร์ออกจากประเทศจะต้องเสียค่าธรรมเนียมถึง ๓๘.๔๐ ดอลลาร์ ในขณะที่ค่าธรรมเนียมในสิงคโปร์และมาเลเซีย ๑๖ ดอลลาร์และ ๑๕.๕๐ ดอลลาร์
          อย่างไรก็ดี กลุ่มสถาบันการเงินภายในอาเซียนอย่างกลุ่มซีไอเอ็มบี (CIMB) ได้เปิดให้บริการโอนเงินข้ามประเทศ โดยได้ใช้ระบบการโอนเงินข้ามประเทศแบบรวดเร็ว (SpeedSend) มาใช้ในบางปีและมีแผนจะขยายกลุ่มเป้าหมายภายในปีนี้ โดยกลุ่มซีไอเอ็มบีได้ให้บริการโอนเงินที่ใช้โปรแกรมประยุกต์ (application programming interface: API) ซึ่งเป็นการโอนเงินระหว่างประเทศที่มีค่าธรรมเนียมถูก ไม่เพียงแต่จะมีการใช้ระบบการโอนเงินระหว่างประเทศแบบรวดเร็ว (SpeedSend) กับประเทศสมาชิกอาเซียน ๑๐ ประเทศเท่านั้น แต่ยังขยายไปสู่การเชื่อมโยงกับอีก ๓๑ ประเทศทั่วโลกผ่านการใช้โปรแกรมประยุกต์ (API) และการสร้างพันธมิตรด้านหุ้นส่วนและด้านกลยุทธ์กับสถาบันการเงินและผู้ให้บริการด้านการโอนเงิน ซึ่งในขณะนี้การทำธุรกรรมการเงินส่วนใหญ่ที่เกิดในไทยจะเป็นการโอนเงินไปยังฟิลิปปินส์ ในการนี้ นายไพศาล ธรรมโพธิทอง รองประธานบริหารของกลุ่มซีไอเอ็มบี (CIMB) กล่าวเพิ่มเติมถึงการให้บริการทางการเงินว่า ลูกค้าจะพึงพอใจกับการให้บริการที่รวดเร็วด้วยเครือข่ายของซีไอเอ็มบี (CIMB) ที่มีอยู่จำนวนมาก และสามารถรวบรวมเงินได้ภายในเวลาไม่กี่นาที ซึ่งฐานเครือข่ายขนาดใหญ่และบริการโอนเงินภายในวันเดียวกันจะสามารถช่วยเหลือรวบรวมเงินได้ภายใน ๑๐ นาที โดยมีค่าบริการเริ่มต้นที่๑๕๐ บาทต่อครั้ง
          ด้านนาย U Kyaw Kyaw Maung ผู้ว่าการธนาคารกลางเมียนมากล่าวว่า แรงงานข้ามชาติชาวเมียนมาประมาณ ๓ ล้านคนในประเทศไทยจะได้รับประโยชน์จากการให้บริการชำระเงินข้ามประเทศที่จัดทำโดยธนาคารกรุงไทยและธนาคาร Shwe ของเมียนมา และนาย Ravi Menon กรรมการผู้จัดการขององค์การเงินตราแห่งประเทศสิงคโปร์ (Monetary Authority of Singapore) ได้กล่าวเพิ่มเติมว่าในปี พ.ศ. ๒๕๖๓ จะมีเชื่อมต่อระบบเพย์นาว (PayNow) ของสิงคโปร์เข้ากับระบบพร้อมเพย์ (PromptPay) ของไทยซึ่งเป็นระบบการชำระเงินที่ผูกบัญชีธนาคารกับเบอร์โทรศัพท์ ซึ่งจะช่วยให้ผู้ใช้โทรศัพท์สามารถใช้แอพลิเคชั่นในการทำธุรกรรมทางการเงินได้


แปลและเรียบเรียงจาก: http://www.nationmultimedia.com/news/asean-plus/30367176

© 2016 Office of the Council of State.